วันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

วันวานที่บ้านเรา เด็กหญิงฮาคีมาร์ อีแต


วันวานที่บ้านเรา

จังหวัดยะลาเป็นจังหวัดหนึ่งที่ตั้งอยู่ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นจังหวัดเล็กๆที่อยู่ใต้สุดแดนสยาม       ยะลาเป็นจังหวัด ที่มีการวางผังเมืองแบบใยแมงมุมที่สวยที่สุดในประเทศไทย  และได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดเมืองที่สะอาดปีซ้อนระหว่าง พ.ศ. 2528- พ.ศ. 2530   และในพ.ศ 2540 ได้รับการคัดเลือกจากองค์การอนามัยโลกให้เป็น 1 ใน 5 เมืองของประเทศไทย  
ชาวยะลาเป็นผู้คนที่มีจิตใจดี มีน้ำใจ สามัคคีและช่วยเหลือซึ่งกันและกันมาโดยตลอด ถึงแม้จะนับถือศาสนาที่ต่างกันแต่ก็ไม่เคยแบ่งแยกกันซึ่งเป็นอย่างนี้มาหลายชั่วอายุคนแล้ว  จังหวัดยะลามีทั้งหมด 8 อำเภอ  ในแต่ละอำเภอจะมีสถานที่ท่องเที่ยวที่แตกต่างกันออกไปตามสภาพแวดล้อมของอำเภอนั้นๆ เช่น น้ำตกธารโตของอำเภอธารโต  น้ำตกนี้เป็นน้ำตกที่มีความสวยงาม มีระดับน้ำตกถึง 7 ชั้นลดหลั่นกันอย่างสวยงาม มีแอ่งน้ำที่สามารถเล่นน้ำและร่มรื่นไปด้วยป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์ไม้ที่น่าสนใจรวมถึงต้นศรียะลาหรือต้นอโศกเหลือง ซึ่งจะออกดอกชูช่อสีเหลืองสวยงามในราวเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี
และอีกน้ำตกหนึ่งในธารโตคือน้ำตกละอองรุ้ง  มีทางเข้าไปยังหมู่บ้านของชนเผ่าซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในนาม        “ซาไก ” ซึ่งแต่เดิมดำรงชีวิตอยู่ด้วยการหาของป่า  มีความชำนาญการในด้านการล่าสัตว์และการรักษาด้วยยาสมุนไพรบ้านเรือนของชาวซาไกจะสร้างด้วยไม่ไผ่มุงหลังคาจาก ต่อมากรมประชาสัมพันธ์สงเคราะห์ได้กราบบังคมทูล                            สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและได้มอบ “ศรีธารโต ” เป็นนามสกุลพระราชทานให้ชาวซาไกได้ใช้จนถึงปัจจุบันชาวซาไกได้มีการแยกย้ายออกไปทำงานที่อื่นบ้าง  แต่ที่หมู่บ้านแห่งนี้ก็ยังคงมีชาวซาไกพอให้เห็นอยู่บ้าง
อีกสถานที่หนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากันก็คืออำเภอเบตง  เป็นอำเภอที่อยู่ใต้สุดแดนสยาม  มีเส้นทางคดเคี้ยวไปตามไหล่เขา มองเห็นทัศนียภาพที่สวยงามของทะเลสาบป่าและสวนยางพารา ตัวเมืองตั้งอยู่ในโอบล้อมของขุนเขา  อากาศเย็นสบาย  มีหมอกปกคลุมในยามเช้าจนได้สมญานามว่า “ เมืองในหมอก  ดอกไม้งาม ” เบตงเป็นอำเภอที่มีความเจริญด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวมาก  ทำให้ชาวมาเลเซียเดินทางมาท่องเที่ยวกันอย่างแพร่หลาย มีตู้ไปรษณีย์ที่ใหญ่และสวนดอกไม้ที่สวยงาม  รวมไปถึงบ่อน้ำร้อนและอุโมงค์  สามารถสร้างรายได้แก่ชาวอำเภอเบตงได้อย่างมาก        
ดิฉันเองอาศัยอยู่ในหมู่บ้านอามัน หมู่ที่5 ตำบลสะเตงนอก อำเภอเมืองยะลา ซึ่งในหมู่บ้านของดิฉันก็มีตำนานที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าอำเภออื่นๆเลย  ซึ่งเป็นตำนานเกี่ยวกับเจ้าเมืองที่มีชื่อว่า "พระเจ้าเขี้ยวเพชร" กับการปกครองเมืองโบราณ ซึ่งในสมัยนั้นเป็นการปกครองเมืองของพระเจ้าเขี้ยวเพชร (รายาซีหยง) โดยมีผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังว่า  เมื่อ 200 ปีก่อนนั้นบริเวณหมู่บ้านอามัน ในเขตหมู่ที่ 5 บ้านบาโงยบาแดนั้น เป็นบริเวณของวังโบราณที่มีพระเจ้าเขี้ยวเพชรปกครองเมืองอยู่ ชาวบ้านดั้งเดิมเรียกว่า "รายาซีหยง" มีอาณาบริเวณกว้าง ซึ่งรอบบริเวณของวังโบราณมีการขุดคลองเพื่อกั้นเป็นอาณาเขต จากหลักฐานที่คงเหลืออยู่บริเวณวังโบราณตั้งอยู่บ้านอามันห่างจากถนนสายบาโงยบาแดประมาณ 500 เมตร พื้นที่จะเป็นเนินสูง มีเศษซากของอิฐที่ทำจากหิน ดิน อยู่ประปรายรอบบริเวณ ในพื้นที่รอบข้างมีร่องรอยของคลองรอบเมืองซึ่งเดิมจะไหลไปบรรจบกับแม่น้ำปัตตานี ในปัจจุบันตื้นเขินเป็นพื้นที่ลุ่มซึ่งน้ำไม่สามารถไหลผ่าน ส่วนบริเวณซุ้มประตู ตั้งอยู่บริเวณบ้านอามัน ซึ่งห่างออกไปเป็นบริเวณติดต่อกับพื้นที่ของตำบลบันนังสาเรง อำเภอเมืองยะลา รายาซีหยงท่านนี้เป็นผู้ที่ปกครองเมืองที่เคร่งครัด  ดุดัน  เด็ดขาดมากในเรื่องการปกครอง ทำให้เหล่าข้าทาสบริวารต่างก็อยู่ในโอวาทกันทุกคน จากตำนานนี้ชาวบ้านยังเล่าต่อไปอีกว่าพระเจ้าเขี้ยวเพชร (รายาซีหยง) ชอบรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของเลือดมนุษย์ ด้วยเหตุมาจากการที่แม่ครัวทำกับข้าวบังเอิญมีดบาดนิ้วขณะปรุงอาหาร  ทำให้เลือดได้หยดลงไปในอาหาร  เมื่อรายาซีหยงได้รับประทานอาหารมื้อนั้นก็รู้สึกอร่อยเป็นพิเศษเลยได้พูดขึ้นว่า “อาหารมื้อนี้ช่างมีรสชาติที่อร่อยกว่าอาหารมื้อไหนๆ” จึงเรียกแม่ครัวทำอาหารมาถามว่าเพราะเหตุใด  แม่ครัวเลยตอบไปว่าทำอาหารเหมือนทุกวันแต่วันนี้เลือดของเขาได้หยดลงไปในอาหารไปด้วย  จากเหตุการณดังกล่าวทำให้การรับประทานอาหารของรายาซีหยงต้องมีการนำเลือดมาเป็นส่วนผสมด้วยทุกครั้ง จนบริวารต้องคอยหาเลือดมาถวายให้รายาซีหยงเป็นประจำทุกวัน จนผู้คนในเมืองต่างหวาดกลัวกับการกระทำของรายาซีหยง
              จากที่กล่าวมาข้างต้นเป็นตำนานหนึ่งของบ้านอามันที่เล่ากันมาต่อๆจากรุ่นสู่รุ่น แต่เมืองโบราณนั้นในปัจจุบันสภาพร่องรอยดังกล่าวได้กลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชาวบ้านในเขตนั้น ทำให้ไม่เหลือภาพให้เราได้เห็นเป็นขวัญตา แต่ผู้เฒ่าผู้แก่่ในหมู่บ้านที่อาศัยอยู่ก่อนหน้านี้ เคยเล่าว่าแต่ก่อนเคยมีร่องรอยดังกล่าวให้เราได้เห็นกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานร่องรอยเหล่านั้นก็ได้ถูกดินและป่าปกคลุมจนหมดไป





บริเวณโดยรอบของวังโบราณที่กล่าวขานกัน

บริเวณรอบคลองที่กล่าวขานกัน



ทางเข้าหมู่บ้านอามันในปัจจุบัน 
การที่เราได้รับรู้ถึงตำนานหรือที่มาของหมู่บ้านตนเองว่ามีความเป็นมาอย่างไรนั้น สามารถทำให้เราเกิดความคิดที่จะอนุรักษ์และศึกษาความรู้เกี่ยวกับถิ่นฐานบ้านเกิดของตนให้ยังคงอยู่ต่อไป ซึ่งสามารถสะท้อนถึงความเป็นมาของสภาพแวดล้อมของสถานที่นั้นๆได้ ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีหลักฐานที่หลงเหลืออยู่ให้พวกเราได้เห็นหรือศึกษาเพียงแค่น้อยนิดแล้วก็ตาม แต่เรื่องราวของรายาซีหยงนั้นผู้คนก็ยังมีการกล่าวถึงกันอยู่ เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้มีเรื่องราวเล่าสู่กันฟัง จากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งดิฉันและใครก็ไม่สามารถบอกได้ว่าตำนานเหล่านี้เป็นเรื่องเท็จจริงอย่างไร แต่ทุกตำนานและทุกประวัติศาสตร์ล้วนมีคุณค่าทางด้านต่างๆ  ที่ทำให้สถานที่นั้นๆ เกิดความน่าสนใจคงแก่การอนุรักษ์ไว้  ดังนั้นเรื่องราวของแต่และท้องถิ่นล้วนมีความสำคัญ  เราในในฐานะชนรุ่นหลังที่อาศัยอยู่ในถิ่นฐานใดก็ตาม จงภูมิใจในความเป็นท้องถิ่นและวัฒนธรรมของตน ดังที่เขาว่ากันว่า อดีตมีไว้เพื่อศึกษาและนำมาพัฒนาปรับใช้ให้เข้ากับยุคสมัย  เพื่อสังคมจะได้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขตลอดไป






          : จากคำบอกเล่าของ นายเจ๊ะยอ มะมิง (ผู้เฒ่าผู้แก่ในถิ่นฐาน)



                                                                   


4 ความคิดเห็น:

  1. คะแนนที่ได้ 22 คะแนน
    เขียนเรียความได้ดี แต่ถ้าจะให้คะแนนเพิ่มขึ้น ควรปรับปรุงดังนี้
    1. ควรมีภาพประกอบบ้าง เพื่อให้น่าสนใจกว่านี้
    2. ส่วนสรุปให้สัมพันธ์กับเนื้อเรื่องกว่านี้
    3. จัดเรียง ส่วนนำ เนื้อเรื่อง สรุป ให้ชัดเจนกว่านี้
    โปรดปรับปรุงภายใน 1 สัปดาห์ ( แก้ไขเสร็จแล้ว แจ้งให้คุณครูทราบด้วยนะค่ะ )

    ตอบลบ
  2. คะแนนที่ได้ 27 คะแนน
    ภาพประกอบการเขียนเรียงความได้ดี แต่ถ้าจะให้คะแนนเพิ่มขึ้น ควรปรับปรุงดังนี้
    1. ควรจัดภาพประกอบการเขียนเรียงความให้สมดุลกับเนื้อเรื่องกว่านี้
    2. จัดย่อหน้าแต่ละส่วนให้ชัดเจนนะค่ะ
    โปรดปรับปรุงภายใน 1 สัปดาห์ ( แก้ไขเสร็จแล้ว แจ้งให้คุณครูทราบด้วยนะค่ะ )

    ตอบลบ
  3. ครั้งที่สามแก้แล้วนะคะ

    ตอบลบ
  4. คะแนนที่ได้ 30 คะแนนค่ะ

    ตอบลบ