กริชรามัน.........ตำนานแห่งศาตราวุธ
กริช ศาสตราวุธโบราณ อันเป็นตำนานคู่กับชายมลายู กริชมิใช่อาวุธทั่วไป แต่กริชคือวัตถุสิ่งหนึ่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำขึ้นมาโดยผู้สั่งทำได้ประสานจิตภาวนา หรืออำนาจจิตเข้าด้วยกัน และเริ่มทำในฤกษ์ยามใดยามหนึ่ง และเสร็จด้วยฤกษ์ยามใดยามหนึ่งที่ชัดเจน ซึ่งถ้าหากทำกริชขึ้นมาในลักษณะนี้ ทางภูมิปัญญาเรื่องกริชเขาเล่าว่ากริชเล่มนั้นจะเป็นกริชที่มีจิตวิญญาณ กริชจะเป็นอย่างไรนั้นสุดแล้วแต่ใจจะคิด ตามความเชื่อของแต่ละคน กริชรามันมีตำนานความเป็นมา และลักษณะพิเศษเป็นเอกลักษณ์ ไม่แพ้กริชของพื้นที่ใดในแหลมมลายู ตระกูลการทำกริชนั้นมีหลายตระกูลและมีความเชื่อที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจารย์พิชัย แก้วขาว ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกริช ได้เคยกล่าวไว้ว่า หากจะศึกษาเรื่องกริชแล้ว ตลอดชีวิตก็ยังไม่จบ ใบกริชหรือตากริชเป็นส่วนที่มีอานุภาพร้ายแรงมาก ส่วนมากจะเป็นโลหะ กริชยังเป็นเครื่องประดับที่ใช้ศิลปะชั้นสูง มีคุณค่าด้วยประวัติที่บ่งบอกถึงความเป็นมาของใบกริชว่ามีพลังอำนาจหรือมีประโยชน์ในการใช้งานอย่างไร เช่น กริชจือรีตา ซึ่งช่างจะทำรูปสลักที่โคนของใบกริชเป็นรูปต่างๆ อย่างเช่น รูปฤาษี รูปม้า รูปมังกร รูปช้าง รูปสิงห์ ฯลฯ ซึ่งจะมีความหมายแตกต่างกันไป
นายตีพะลี อะตะบู ผู้สืบทอดการทำกริชรามัน โรงตีกริช หมู่ 2 บ.บาลูกาลูวะห์ ต.ตะโล๊ะหะลอ อ.รามัน จ.ยะลา เล่าว่า การจัดตั้งกลุ่มทำกริชรามันเริ่มมาเมื่อประมาณปี พ.ศ.2542 ก่อนที่เขาจะเริ่มตั้งกลุ่มทำกริช ตีพะลีสอนอยู่ที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน แล้วมีกลุ่มที่สนใจที่จะค้นคว้าเรื่องการทำกริชรามัน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมที่สำคัญ จึงได้เริ่มมีการเรียนการสอนการทำกริชรามันขึ้นที่ศูนย์ฝึกอาชีพวัดช้างไห้ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งในช่วงนั้นสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้ทรงเสด็จมาและทรงสนพระทัย จึงรับสั่งให้สืบสานอนุรักษ์กริชรามันเอาไว้ ซึ่งสร้างความปราบปลื้มให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นก็เริ่มการค้นคว้าการทำกริชรูปแบบโบราณกันอย่างจริงจัง แต่เนื่องจากการเดินทางจาก อ.รามัน จ.ยะลา ไปยังศูนย์ฝึกอาชีพวัดช้างไห้ ค่อนข้างไกล เขาจึงได้ย้ายกลับมาสอนที่นี่ สร้างเป็นโรงตีกริช โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 7 เข้ามาช่วยจัดสร้าง และเข้ามาสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านในที่แห่งนี้ โดยให้เขาเป็นผู้จัดหาสมาชิกกลุ่ม เข้ามาเรียนรู้เรื่องการทำกริช ช่วงแรกๆมีชาวบ้านสนใจเข้าร่วมกลุ่มประมาณ 20 คน ซึ่งก็มีชาวฝรั่งเศสร่วมอยู่ด้วย 1 คน คือ นายโดมีนิก ลีโอนาถ ซึ่งทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านรู้สึกว่าในขณะที่คนต่างชาติยังสนใจในการทำกริช จนกระทั้งมีสมาชิกเพิ่มขึ้นจำนวนมาก การทำกริชในช่วงแรกๆ ก็ทำกับแบบสะเปะสะปะ ไม่มีมาตรฐาน เนื่องจากอยู่ในช่วงการเรียนรู้ และค้นคว้าวิจัย โดยมีรูปแบบกริชโบราณอยู่ในพื้นที่ ก็เอามาเป็นแบบ และเรียนรู้ ทดลองทำ จนกระทั้งทางมีงานวิจัยของ สกว. ให้มาทำวิจัยในเรื่องกริช ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่จะสามารถค้นคว้าสืบเสาะ การทำกริชรามัน แบบโบราณได้ จึงได้เข้าร่วมในการวิจัย งานวิจัยทำให้การทำงานมีระบบคิดที่เป็นระบบ สามารถที่จะเข้าไปหาภูมิปัญญา และรูปแบบกริชต่างๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน จนกระทั่งว่า ทางกลุ่มมีความเข้มแข็งที่จะยืนด้วยตัวเองได้ จึงเริ่มการจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2546 ที่ผ่านมา ชื่อสหกรณ์กริชรามันจำกัด” ตะพีละเล่าถึงความเป็นมาในการตั้งกลุ่มทำกริชรามัน เขาเล่าอีกว่าสมาชิกเริ่มต้นของสหกรณ์มีอยู่ 42 คน เงินทุนเริ่มต้นประมาณ 1 หมื่นกว่าบาทเท่านั้น ซึ่งน้อยมาก ทำให้ในช่วงนั้นสามารถผลิตกริชได้เพียงเดือนละเล่ม หรือ 2 เล่มเท่านั้น ก็พอจะมีกำไรบ้างในช่วงแรก
ผู้สืบทอดการทำกริชรามัน ยังกล่าวอีกว่า ในปีนี้ทางสหกรณ์ได้เปิดเครือข่ายออกเป็น 4 เครือข่ายใน อ.รามัน จ.ยะลา คือที่ บ้านบาลูกาลูวะห์ บ้านตะโล๊ะหะลอ บ้านพอเม็ง และที่บ้านเจาะลีมัต ที่ จ.ปัตตานี ก็ที่ อ.กะพ้อ ส่วน จ.นราธิวาส ก็จะเป็นที่บ้านจือแลติ และในแต่ละกลุ่มก็พยายามขยายเครือข่ายออกไปอีก วิธีการทำกริชที่นี่ยังคงยึดแบบดั้งเดิม โดยทางกลุ่มจะแบ่งการทำกริชออกเป็น 2 ลักษณะคือ ทำกริชแบบดั้งเดิม และการทำกริชแบบใช้เครื่องมือสมัยใหม่มาทุ่นแรง เพื่อความรวดเร็ว และงานสวยขึ้นซึ่งจะใช้กับการทำกริชที่ระลึก แต่อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่ลูกค้าจะสั่งให้ทำแบบโบราณมากกว่าตีพะลี ยังได้เล่าถึงวัฒนธรรมในการใช้กริชในสมัยโบราณว่า จะมีกฎระเบียบของบ้านเมืองเมื่อกว่า 300 ปีที่ผ่านมา ซึ่งที่แห่งนี้เรียกว่า เมืองรามันห์ คนโบราณที่ใช้กริชก็จะมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่าเมื่อใดที่ชักใบกริชออกมาแล้ว จำเป็นจะต้องแทงคู่ต่อสู้ทันที แต่กริชก็จะไม่ทำร้ายบุคคลธรรมดา เพราะกริชจะเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งคล้ายๆกับดาบอาญาสิทธิ์ เนื่องจากกริช 1 เล่มกว่าที่จะได้มาจะต้องเป็นคนที่มีบุญบารมี ในอดีตกาลหากผู้ใดมีเรื่องราวขัดแย้งและประสงค์จะต่อสู้กันตามแบบลูกผู้ชาย คู่กรณีทั้งสองคนจะต้องไปแจ้งความจำนงว่าจะต่อสู้กัน ที่สำนักเลขาเจ้าเมือง(ปัจจุบันเทียบได้กับที่ว่าการอำเภอ) ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านปูแล หรือบ้านปูไล จากนั้นเจ้าหน้าที่สำนักเลขาก็จะนำตัวทั้งสองไปยังลานประลอง ซึ่งขุดเป็นหลุมกว้างประมาณ 2 วา ลึกประมาณ 1.50 เมตร และก่อนที่จะมีการประลองก็จะให้ทั้ง 2 ลงลายมือชื่อเอาไว้ว่าห้ามไม่ให้ทายาทของทั้งสอง ออกมาแก้แค้นกัน และส่วนมากหลังจากการประลองก็ไม่พบว่ามีผู้เสียชีวิต เพราะว่าจะเลิกรากันไปก่อน แม้วันเวลาที่ล่วงเลยมานาน อาจทำให้ศาสตราวุธชนิดนี้เทียบไม่ได้กับอาวุธสมัยใหม่ แต่ตำนานแห่งกริช ยังคงเป็นเรื่องราวอันน่าภาคภูมิใจของลูกผู้ชายเชื้อสายมลายู
กริชเป็นอาวุธประจำกายของผู้ชายที่ติดตัวอยู่ประจำตัว และยังเคยเป็นเครื่องบ่งบอกว่าเป็นชายที่มียศถาบรรดาศักดิ์ ผู้เป็นเจ้าของหรือวงตระกูลด้วย กริชถือเป็นของสำคัญ สามารถใช้แทนตัวเจ้าบ่าว ที่ติดภาระกิจอื่นได้และจะได้รับการพกพาติดตัวตลอด แม้แต่เวลาอาบน้ำหรือเข้านอน
คะแนนที่ได้ 20 คะแนน
ตอบลบแต่ถ้าจะให้คะแนนเพิ่มขึ้น ควรปรับปรุงดังนี้
1. คำนำของบทความ ส่วนเกริ่นนำเรื่อง ควรจะเป็นการเขียนกว้างๆกว่านี้ ก่อนที่จะเจาะลึกลงไปในเนื้อเรื่อง
2. ส่วนเนื้อเรื่องยังน้อยเกินไป สามารถเพิ่มประเด็นได้หลากหลายกว่านี้
3. ส่วนสรุปยังขาดความเป็นเอกภาพ ยังไม่สามารถบอกผู้อ่านให้ทราบว่าผู้อ่านได้อ่านมาจนถึงจุดปิดเรื่องแล้ว
4. ควรแทรกรูป เป็นตัวอย่างด้วย เพื่อให้เนื้อหาน่าสนใจยิ่งขึ้น
โปรดปรับปรุงภายใน 1 สัปดาห์ ( แก้ไขเสร็จแล้ว แจ้งให้คุณครูทราบด้วยนะค่ะ )
คะแนนที่ได้ 25 คะแนน แต่ถ้าจะให้คะแนนเพิ่มขึ้น ควรปรับปรุงดังนี้
ตอบลบควรแทรกภาพประกอบบ้าง เพื่อให้การเขียนเรียงความน่าสนใจ และส่วนสรุปยาวเกินไปค่ะ
โปรดปรับปรุงภายใน 1 สัปดาห์ ( แก้ไขเสร็จแล้ว แจ้งให้คุณครูทราบด้วยนะค่ะ )
คะแนนที่ได้ 30 คะแนน
ตอบลบ