วันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

กริชรามัน.........ตำนานแห่งศาตราวุธ ฮาซัน ยามา

กริชรามัน.........ตำนานแห่งศาตราวุธ

            กริช ศาสตราวุธโบราณ อันเป็นตำนานคู่กับชายมลายู  กริชมิใช่อาวุธทั่วไป แต่กริชคือวัตถุสิ่งหนึ่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำขึ้นมาโดยผู้สั่งทำได้ประสานจิตภาวนา หรืออำนาจจิตเข้าด้วยกัน และเริ่มทำในฤกษ์ยามใดยามหนึ่ง และเสร็จด้วยฤกษ์ยามใดยามหนึ่งที่ชัดเจน ซึ่งถ้าหากทำกริชขึ้นมาในลักษณะนี้ ทางภูมิปัญญาเรื่องกริชเขาเล่าว่ากริชเล่มนั้นจะเป็นกริชที่มีจิตวิญญาณ กริชจะเป็นอย่างไรนั้นสุดแล้วแต่ใจจะคิด ตามความเชื่อของแต่ละคน กริชรามันมีตำนานความเป็นมา และลักษณะพิเศษเป็นเอกลักษณ์ ไม่แพ้กริชของพื้นที่ใดในแหลมมลายู ตระกูลการทำกริชนั้นมีหลายตระกูลและมีความเชื่อที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจารย์พิชัย แก้วขาว ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกริช ได้เคยกล่าวไว้ว่า หากจะศึกษาเรื่องกริชแล้ว ตลอดชีวิตก็ยังไม่จบ ใบกริชหรือตากริชเป็นส่วนที่มีอานุภาพร้ายแรงมาก ส่วนมากจะเป็นโลหะ กริชยังเป็นเครื่องประดับที่ใช้ศิลปะชั้นสูง มีคุณค่าด้วยประวัติที่บ่งบอกถึงความเป็นมาของใบกริชว่ามีพลังอำนาจหรือมีประโยชน์ในการใช้งานอย่างไร เช่น กริชจือรีตา ซึ่งช่างจะทำรูปสลักที่โคนของใบกริชเป็นรูปต่างๆ อย่างเช่น รูปฤาษี รูปม้า รูปมังกร รูปช้าง รูปสิงห์ ฯลฯ ซึ่งจะมีความหมายแตกต่างกันไป
       
            นายตีพะลี อะตะบู ผู้สืบทอดการทำกริชรามัน โรงตีกริช หมู่ 2 บ.บาลูกาลูวะห์ ต.ตะโล๊ะหะลอ อ.รามัน จ.ยะลา เล่าว่า การจัดตั้งกลุ่มทำกริชรามันเริ่มมาเมื่อประมาณปี พ.ศ.2542  ก่อนที่เขาจะเริ่มตั้งกลุ่มทำกริช ตีพะลีสอนอยู่ที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน แล้วมีกลุ่มที่สนใจที่จะค้นคว้าเรื่องการทำกริชรามัน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมที่สำคัญ จึงได้เริ่มมีการเรียนการสอนการทำกริชรามันขึ้นที่ศูนย์ฝึกอาชีพวัดช้างไห้ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งในช่วงนั้นสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้ทรงเสด็จมาและทรงสนพระทัย จึงรับสั่งให้สืบสานอนุรักษ์กริชรามันเอาไว้ ซึ่งสร้างความปราบปลื้มให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก  หลังจากนั้นก็เริ่มการค้นคว้าการทำกริชรูปแบบโบราณกันอย่างจริงจัง แต่เนื่องจากการเดินทางจาก อ.รามัน จ.ยะลา ไปยังศูนย์ฝึกอาชีพวัดช้างไห้ ค่อนข้างไกล เขาจึงได้ย้ายกลับมาสอนที่นี่ สร้างเป็นโรงตีกริช โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 7 เข้ามาช่วยจัดสร้าง และเข้ามาสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านในที่แห่งนี้ โดยให้เขาเป็นผู้จัดหาสมาชิกกลุ่ม เข้ามาเรียนรู้เรื่องการทำกริช ช่วงแรกๆมีชาวบ้านสนใจเข้าร่วมกลุ่มประมาณ 20 คน ซึ่งก็มีชาวฝรั่งเศสร่วมอยู่ด้วย 1 คน คือ นายโดมีนิก ลีโอนาถ ซึ่งทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านรู้สึกว่าในขณะที่คนต่างชาติยังสนใจในการทำกริช จนกระทั้งมีสมาชิกเพิ่มขึ้นจำนวนมาก การทำกริชในช่วงแรกๆ ก็ทำกับแบบสะเปะสะปะ ไม่มีมาตรฐาน เนื่องจากอยู่ในช่วงการเรียนรู้ และค้นคว้าวิจัย โดยมีรูปแบบกริชโบราณอยู่ในพื้นที่ ก็เอามาเป็นแบบ และเรียนรู้ ทดลองทำ จนกระทั้งทางมีงานวิจัยของ สกว. ให้มาทำวิจัยในเรื่องกริช  ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่จะสามารถค้นคว้าสืบเสาะ การทำกริชรามัน แบบโบราณได้ จึงได้เข้าร่วมในการวิจัย งานวิจัยทำให้การทำงานมีระบบคิดที่เป็นระบบ สามารถที่จะเข้าไปหาภูมิปัญญา และรูปแบบกริชต่างๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน จนกระทั่งว่า ทางกลุ่มมีความเข้มแข็งที่จะยืนด้วยตัวเองได้ จึงเริ่มการจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2546 ที่ผ่านมา ชื่อสหกรณ์กริชรามันจำกัด” ตะพีละเล่าถึงความเป็นมาในการตั้งกลุ่มทำกริชรามัน เขาเล่าอีกว่าสมาชิกเริ่มต้นของสหกรณ์มีอยู่ 42 คน เงินทุนเริ่มต้นประมาณ 1 หมื่นกว่าบาทเท่านั้น ซึ่งน้อยมาก ทำให้ในช่วงนั้นสามารถผลิตกริชได้เพียงเดือนละเล่ม หรือ 2 เล่มเท่านั้น ก็พอจะมีกำไรบ้างในช่วงแรก


          ผู้สืบทอดการทำกริชรามัน ยังกล่าวอีกว่า ในปีนี้ทางสหกรณ์ได้เปิดเครือข่ายออกเป็น 4 เครือข่ายใน อ.รามัน จ.ยะลา คือที่ บ้านบาลูกาลูวะห์ บ้านตะโล๊ะหะลอ บ้านพอเม็ง และที่บ้านเจาะลีมัต ที่ จ.ปัตตานี ก็ที่ อ.กะพ้อ ส่วน จ.นราธิวาส ก็จะเป็นที่บ้านจือแลติ และในแต่ละกลุ่มก็พยายามขยายเครือข่ายออกไปอีก วิธีการทำกริชที่นี่ยังคงยึดแบบดั้งเดิม โดยทางกลุ่มจะแบ่งการทำกริชออกเป็น 2 ลักษณะคือ ทำกริชแบบดั้งเดิม และการทำกริชแบบใช้เครื่องมือสมัยใหม่มาทุ่นแรง เพื่อความรวดเร็ว และงานสวยขึ้นซึ่งจะใช้กับการทำกริชที่ระลึก แต่อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่ลูกค้าจะสั่งให้ทำแบบโบราณมากกว่าตีพะลี ยังได้เล่าถึงวัฒนธรรมในการใช้กริชในสมัยโบราณว่า จะมีกฎระเบียบของบ้านเมืองเมื่อกว่า 300 ปีที่ผ่านมา ซึ่งที่แห่งนี้เรียกว่า เมืองรามันห์ คนโบราณที่ใช้กริชก็จะมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่าเมื่อใดที่ชักใบกริชออกมาแล้ว จำเป็นจะต้องแทงคู่ต่อสู้ทันที แต่กริชก็จะไม่ทำร้ายบุคคลธรรมดา เพราะกริชจะเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งคล้ายๆกับดาบอาญาสิทธิ์ เนื่องจากกริช 1 เล่มกว่าที่จะได้มาจะต้องเป็นคนที่มีบุญบารมี ในอดีตกาลหากผู้ใดมีเรื่องราวขัดแย้งและประสงค์จะต่อสู้กันตามแบบลูกผู้ชาย คู่กรณีทั้งสองคนจะต้องไปแจ้งความจำนงว่าจะต่อสู้กัน ที่สำนักเลขาเจ้าเมือง(ปัจจุบันเทียบได้กับที่ว่าการอำเภอ) ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านปูแล หรือบ้านปูไล จากนั้นเจ้าหน้าที่สำนักเลขาก็จะนำตัวทั้งสองไปยังลานประลอง ซึ่งขุดเป็นหลุมกว้างประมาณ 2 วา ลึกประมาณ 1.50 เมตร และก่อนที่จะมีการประลองก็จะให้ทั้ง 2 ลงลายมือชื่อเอาไว้ว่าห้ามไม่ให้ทายาทของทั้งสอง ออกมาแก้แค้นกัน และส่วนมากหลังจากการประลองก็ไม่พบว่ามีผู้เสียชีวิต เพราะว่าจะเลิกรากันไปก่อน แม้วันเวลาที่ล่วงเลยมานาน อาจทำให้ศาสตราวุธชนิดนี้เทียบไม่ได้กับอาวุธสมัยใหม่ แต่ตำนานแห่งกริช ยังคงเป็นเรื่องราวอันน่าภาคภูมิใจของลูกผู้ชายเชื้อสายมลายู
           กริชเป็นอาวุธประจำกายของผู้ชายที่ติดตัวอยู่ประจำตัว และยังเคยเป็นเครื่องบ่งบอกว่าเป็นชายที่มียศถาบรรดาศักดิ์ ผู้เป็นเจ้าของหรือวงตระกูลด้วย กริชถือเป็นของสำคัญ สามารถใช้แทนตัวเจ้าบ่าว ที่ติดภาระกิจอื่นได้และจะได้รับการพกพาติดตัวตลอด แม้แต่เวลาอาบน้ำหรือเข้านอน

         
           

วันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

สุสานดาโต๊ะและอ่าวปัตตานี โบราณสถานศักดิ์สิทธิ์ของปัตตานี

                    สุสานดาโต๊ะและอ่าวปัตตานี โบราณสถานศักดิ์สิทธิ์ของปัตตานี  

            สามจังหวัดชายแดนใต้เป็นจังหวัดที่อยู่ทางภาคใต้ซึ่งภาคใต้นั้นก็มี14จังหวัด รวมถึงพื้นที่สาม    จังหวัดชายแดนใต้ด้วย  ภาคใต้เองก็มีเรื่องเล่าหรือตำนานที่น่าสนใจมากมาย ส่วนสามจังหวัดชายแดนใต้ก็มีเรื่องเล่าหรือตำนานที่ไม่น้อยเช่นกัน  ในสามจังหวัดชายแดนใต้ประกอบด้วยจังหวัด ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส และจังหวัดในสามจังหวัดชายแดนใต้ก็มีสถานที่สำคัญมากมายที่เป็นตำนานหรือเรื่องเล่าที่น่าสนใจให้ได้ศึกษากัน  ส่วนเรื่องเล่าที่ดิฉันอยากให้ผู้อ่านทุกคนได้อ่านก็คือ  สุสานดาโต๊ะและอ่าวปัตตานี  และโดยรวมของพื้นที่ปัตตานีในสมัยก่อน และโบราณสถานศักดิ์สิทธิ์ของปัตตานีด้วย ที่เล่าขานกันมาจนถึงคนปัจจุบันได้เรียนรู้และนำความรู้ที่ได้ไปเล่าสู่กันฟังให้คนต่อๆไป

            อ่าวปัตตานีเป็นมรดกสำคัญ มีทั้งแหล่งโบราณสถาน โบราณคดี เศรษฐกิจ สังคม และอารยธรรม ที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน  ซึ่งในอดีต อ่าวปัตตานี เป็นศูนย์กลางการค้าขายที่สำคัญ โดยมีพ่อค้าจากต่างประเทศมากมาย เช่น โปรตุเกส ฮอลันดา จีน และอาหรับ มาซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ามากมาย กลายเป็นชุมชนท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดใน แหลมมลายู และปัตตานีก็มีความเป็นมาของโบราณสถานต่างๆที่ศักดิ์สิทธิ์โดยจะเริ่มที่หมู่บ้านดาโต๊ะ   หมู่บ้านดาโต๊ะตั้งอยู่ที่ตำบล   แหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เป็นสถานที่ตั้งของสุสาน ดาโต๊ะปาแยสุสานเจ้าเมืองปัตตานีและมัสยิดดาโต๊ะซึ่งบริเวณนี้เคยเป็นท่าพักเรือสินค้า แต่ภายหลังจังหวัดปัตตานีเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม และพื้นที่ดาโต๊ะกว่า 25 ไร่ จึงถูกเปลี่ยนเป็น สุสานฝังศพของชาวมุสลิม หรือที่คนมุสลิมเรียกกันว่า กุโบร์ นับเป็นกุโบร์ที่ใหญ่ที่สุดในอุษาคเนย์ 
นายมะรอนิง สาและ นักวิจัยท้องถ่ินของบ้านดาโต๊ะ

    โดยนายมะรอนิง  สาและ ซึ่งเป็นนักวิจัยท้องถิ่นของบ้านดาโต๊ะ ได้อธิบายว่า   ชาวมุสลิมปัตตานีเคารพนับถือกุโบร์ (หลุมฝังศพชาวมุสลิม) โต๊ะปาแยกันมาก และก็มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ในอดีตมีพ่อค้าชาววาณิชชื่อ โต๊ะปาแย เดินทางมาค้าขายทองเหลือง ขณะนั้นมีการหล่อปืนใหญ่ เพื่อป้องกันเมืองปัตตานี เจ้าเมืองจึงสั่งห้ามไม่ให้นำทองเหลืองออกจากเมือง โต๊ะปาแยฝืนคำสั่งจึงลอบนำทอง-เหลืองที่เจ้าเมืองสั่งห้ามออกนอกเมือง และถูกจับได้ จึงประหารชีวิต ด้วยการตัดคอ และนำศพทิ้งลงคลองยะหริ่ง แต่ศพของโต๊ะปาแยยังวนเวียนอยู่ในคลอง เจ้าเมืองจึงสั่งให้นำศพมาฝังไว้ที่บ้านดาโต๊ะแต่เมื่อนำศพลงหลุม ปรากฏว่าศพขยายยาวขึ้น ชาวบ้านจึงใช้วิธีการพับศพ แต่เมื่อนำศพลงหลุมอีกครั้ง  ศพก็ขยายยาวอีก


สุสานโต๊ะปาแย

ชาวบ้านจึงพับศพอีกได้ประมาณ 1 ศอก และก็นำศพลงหลุมต้อง ศพจึงไม่ขยายอีก และเห็นได้ว่าหลุมศพโต๊ะปาแยมีขนาดยาวกว่าหลุมศพของคนทั่วไป








สุสานเจ้าเมืองปัตตานี

ติดกับกุโบร์โต๊ะปาแย ก็มี สุสานยะหริ่ง(สุสาน-ตนกูปะสาหรือ เรียกว่า "พระยาวิชิตภักดีศรีรัตนาเขตประเทศราช" เจ้าเมืองปัตตานีคนที่ 9 และภายในเป็นหลุมศพของเจ้าเมือง และสมาชิกในครอบครัว โดยหลุมฝังศพจะมีแท่งหินแกะสลักลวดลายสวยงามอยู่ 9 แท่น วางบนหลุมศพอย่างเป็นระเบียบ โดยหลุมศพของเจ้าเมืองนั้นจะอยู่ตรงกลาง





       รวมถึงมัสยิดดาโต๊ะปาแยซึ่งปัจจุบันคือมัสยิดดาโต๊ะเป็นที่น่าสนใจคือมีประวัติการก่อสร้างร่วมสมัยกับมัสยิดกรือเซะสร้างเพื่อให้พ่อค้าชาวมุสลิมใช้ปฏิบัติศาสนกิจ ตามหลักศาสนาอิสลาม ใกล้ๆกันก็เป็นบ้านปาเระ ตำบลบาราโหม อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานีิ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสุสาน พญาอินทิรา(สุลต่านอิสมาอีล ชาห์) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองคนแรกของปัตตานี  สุสานนี้มีรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้า สุสานของเจ้าเมืองจะอยู่ด้านในสุด และสร้างศาลาเพื่อป้องกันฝนกัดเซาะ ส่วนภายในสุสานก็มีหินทรายสลักลวดลายเป็นภาษาอาหรับสวยงามวางอยู่ 4 แท่ง ซึ่งเป็นสุสานของพญาอินทิรา และชายาของพระองค์ และส่วนบริเวณโดยรอบจะเป็นสุสานของบุคคลในครอบครัว และใกล้กันประมาณ 500 เมตรก็จะเป็นที่ตั้งของสุสาน ราชินีฮีเยา ราชินีบีรู และราชินีอูงู ซึ่งปัจจุบันบริเวณสุสานราชินีทั้ง 3 พระองค์นี้ยังไม่ได้ปรับปรุงให้สวยงาม แต่ยังคงอยู่ในสภาพเดิม ซึ่งวิทยากรท้องถิ่นบ้านปาเระ ได้บอกว่า พญาอินทิรา หรือ สุลต่านอิสมาอีล ชาห์ เป็นบุตรของรายาศรีวังสาแห่งเมืองโดตามหลิฆัย "หรือเมืองยะรัง" ในรัชสมัยของท่าน เมืองปัตตานีมีชื่อเสียงทางด้านการค้าและเผยแพร่ศาสนาอิสลาม และจังหวัดปัตตานีก็เป็นศูนย์กลางของการเผยแพร่ศาสนาอิสลามมายังจังหวัดยะลาและนราธิวาส และได้ใช้คำพูดเป็นภาษามลายู หรือเรียกว่ามลายูปาตานีมาสู่รุ่นลุกรุ่นหลานในปัจจุบันได้ใช้กัน




      แต่รัฐปาตานีก็เลือนหายไปตามกาลเวลา เพราะ รัฐไทยมิให้ความสำคัญหรือเล็งเห็นคุณค่าของมันเลยดังนั้นหากรัฐให้การส่งเสริมและพัฒนาท้องถิ่นเหล่านี้ให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางวิชาการ ทางประวัติศาสตร์  ให้ชาวบ้านและคนรุ่นใหม่ได้รู้ถึงคุณค่าความเป็นมาของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างชัดเจน  และสุดท้ายความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม จะก้าวไปข้างหน้าในทางที่ดี และในที่สุดความสงบจะกลับคืนสู่ท้องถิ่นอีกครั้ง

               แหล่งอ้างอิง

วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ตำนานปืนใหญ่ พญาตานี เด็กหญิงซีตีฟาตีเมาะห์ บินมามะ

เรียงความเรื่อง  ตำนานปืนใหญ่ พญาตานี


                  จังหวัดแต่ละจังหวัดของประเทศไทยในสมัยก่อนล้วนมีวัฒนธรรม ประเพณี การปกครอง ที่แตกต่างกันไป เช่นเดียวกับวัฒนธรรม  ประเพณีของคนจังหวัดปัตตานีที่มีทั้งคนไทยพุทธ   มุสลิม และคนไทยเชื้อสายจีน  ซึ่งมีวัฒนธรรม  ประเพณี การปกครองของแต่ละศาสนาที่แตกต่างกันมาก    แต่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้

                        อาณาจักรปัตตานี ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศไทย ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาสในปัจจุบัน ไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าอาณาจักรปัตตานีถือกำเนิดขึ้นเมื่อใด และใครเป็นผู้ก่อตั้ง แต่เท่าที่มีการสันนิฐานไปถึงอาณาจักรลังกาสุกะซึ่งน่าจะมีอายุราวประมาณพุทธศตวรรษที่ 11 เดิมอาณาจักรปัตตานีจะนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายานซะส่วนใหญ่  แต่ในพุทธศตวรรษที่ 21 ได้เริ่มเปลี่ยนศาสนาเป็นศาสนาอิสลาม และหลังจากได้เปลี่ยนศาสนาเป็นศาสนาอิสลามแล้ว อาณาจักรปัตตานีมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก บางช่วงอาณาจักรได้แผ่ขยายไปถึงรัฐกลันตันและตรังกานู ตอนกลางของมาเลเซีย และหลังจากสิ้นสุดราชวงศ์ศรีวังสา อาณาจักรปัตตานีก็เริ่มเสื่อมลง จนตกอยู่ในอำนาจของสยามในปี พุทธศักราช 2329 และถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศสยาม


ราชวงศ์ศรีวังสา คือ ราชวงศ์ที่ปกครองอาณาจักรปัตตานีตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.2000 จนถึง พ.ศ.2231

                                                  
มณฑลปัตตานีในปี พ.ศ.2449-2466

                             ปืนใหญ่พญาตานีเป็นปืนใหญ่ที่มีขนาดใหญ่มาก มีอายุราวประมาณ 400 ปี ปืนใหญ่พญาตานีมีความยาว 3 วา 1ศอก 1 คืบ 2 นิ้วครึ่ง ปากกระบอกกว้าง 11 นิ้ว เป็นปืนใหญ่ที่มีการหล่อด้วยสำริด มีหูระวิง ใช้จับทั้งสองข้าง ท้ายปืนหล่อเป็นรูปสังข์ มีการสันนิษฐานเรื่องผู้สร้างไว้ 3 พระองค์ คือ สุลต่านอิสมาเอล ชาฮ์  ราชินีฮีเยา ราชินีบีรู  และยังมีสำนวนหนึ่งที่ได้กล่าวว่า  พญาอินทรา เป็นผู้สร้าง  ปืนใหญ่เป็นภาพสะท้อนถึงความเป็นอยู่และความเจริญรุ่งเรืองของรัฐปัตตานีในอดีต ที่เคยมีการปกครองโดยราชินี เพื่อต่อต้านการรุกรานจากอาณาจักรใหญ่ๆ ต่างๆ  เช่น  อาณาจักรอยุธยาเป็นต้น   ปัจจุบันพญาตานีตั้งแสดงอยู่ที่กระทรวงกลาโหม           
    

ปัตตานี - ชาวปัตตานีแห่ชมปืนใหญ่พญาตานีจำลอง

              รัฐปัตตานีได้สร้างปืนใหญ่ขึ้น เพื่อป้องกันการรุกรานจากข้าศึก และกองทัพต่างๆในสมัย  ราชินีฮีเยาครองราชย์ รัฐปัตตานีเป็นศูนย์กลางการค้าอาวุธให้กับสยามและญี่ปุ่น  ตำนานของของปืนใหญ่พญาตานีไม่มีหลักฐานใดยืนยันแน่นอนว่าใครเป็นผู้สร้าง                     

               “ หนังสือสยาเราะห์เมืองตานี ของนายหะยีหวัน  หะซัน  กล่าวถึงเหตุที่พญาอินทิราสร้างปืนว่า นายเรือสำเภาจีนได้นำปืนและกระสุนปืนมาถวาย ทำให้สุลต่านเกิดความละอายต่อชาวจีนผู้นั้น     เนื่องจากพระองค์มีฐานะเป็นเจ้าผู้ครองนคร แต่หาได้มีอาวุธปืนไว้สำหรับป้องกันบ้านเมือง เหมือนนายเรือมีไว้ป้องกันตนและสำเภา ต่อไปจะเป็นที่ดูหมิ่นแก่ชาวต่างประเทศ จึงเรียกประชุมมุขมนตรี ให้จัดหาช่างและทองเหลืองมาหล่อปืนให้ได้ภายในระยะเวลา ๓ ปี และให้ทำประกาศห้ามพ่อค้านำทองเหลืองออกนอกเมือง "     

     เอกสารชิ้นนี้กล่าวถึงผู้สร้างว่าเป็นชาวโรมัน ต่างจากตำนานเรื่องอื่นๆ ที่อ้างว่าเป็นชาวจีน
               " เมื่อได้ทองเหลืองพอเพียงแก่การหล่อแล้ว พญาอินทิราได้ให้นายช่างชาวโรมัน ชื่ออับดุลซามัค มาเป็นผู้ทำการหล่อปืน เมื่อวันอังคาร ขึ้น ๓ ค่ำ เดือนรอมดอน ปีชวดนักษัตร ฮิจยาเราะห์ ๗๘ " (แลหลังเมืองตานี, อนันต์ วัฒนานิกร, ๒๕๒๘)                              
                  ถึงแม้ว่าตำนานพญาตานี เป็นตำนานที่ไม่ค่อยมีหลักฐานยืนยันชัดเจนมากนัก แต่ก็ไม่ทำให้ชาวรัฐปัตตานีหมดความศรัทธา เพราะชาวปัตตานียังคงศรัทธาและมีความห่วงต่อโบราณวัตถุนี้เป็นอย่างมาก ทั้งยังมีความสำคัญกับต่อชาวปัตตานีแล้ว เรายังสามารถศึกษาความเป็นอยู่และความเจริญรุ่งเรืองของคนในอดีตที่อาจจะมีสายเลือดเดียวกับปู่ ย่า หรือ พ่อแม่ของเรา
แหล่งอ้างอิง

สวนขวัญเมือง ทะเลเทียมของชาวยะลา

สวนขวัญเมือง ทะเลเทียมของชาวยะลา


                  ดิฉันเป็นเด็กในจังหวัดยะลา จังหวัดยะลาเป็นจังหวัดที่อยู่ในภาคใต้สุดแดนสยาม ปลายด้ามขวานของประเทศไทย  จังหวัดยะลาเป็นจังหวัดเดียวในภาคใต้ที่ไม่ติดกับทะเล  เมืองยะลามีสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดของเทศบาลนครยะลา คือ สวนขวัญเมือง  สวนขวัญเมืองเป็นสถานที่สำคัญที่ให้ผลประโยชน์ประชาชน เช่น เป็นสถานที่พักผ่อนหยอนใจของชาวเมืองยะลา  เป็นสถานที่ออกกำลังกาย เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของเยาวชนและประชาชนชาวยะลา เป็นต้น


                                                    
         สวนขวัญเมือง มีชื่อเดิมว่า พรุบาโกย เป็นที่รู้จักกันของคนในชุมชนสะเตงตั้งแต่อดีตของรุ่นปู่ย่า ตายายจนถึงปัจจุบัน ในอดีตพรุบาโกยเป็นสถานที่ที่มีแต่คูน้ำและเป็นป่าที่เต็มไปด้วยหญ้าและต้นกกขึ้นรกรุงรัง  ชาวบ้านในอดีตจึงใช้สถานที่ทำเป็นการเกษตร เป็นทุ่งสำหรับเลี้ยงสัตว์  แต่น่าเสียดายที่ไม่มีท่อระบายน้ำ จึงมีลุ่มน้ำท่วมขัง ปีละครั้ง ทำการเกษตรก็ไม่ได้ ไม่สะดวก ทำที่อยู่อาศัยก็ยาก  ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เลย เทศบาลจึงพัฒนาทำท่อระบายน้ำ หลังจากนั้นน้ำท่วมสองปีครั้ง ห้าปีครั้ง และสิบปีครั้ง เทศบาลจึงได้พัฒนาทำระบายน้ำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนได้พัฒนาสถานที่นี้เป็นสวนสาธารณะ 
         สวนขวัญเมือง หรือพรุบาโกย มีพื้นที่ประมาณ ๒๐๗ ไร่เศษ  ต่อมาในปี ๒๕๒๖ นายกเทศมนตรีเมืองยะลาและหัวหน้ากองช่างได้มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาที่ดินสาธารณะแห่งนี้ให้กลายเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวยะลา  เนื่องจากเห็นว่ายะลาเป็นจังหวัดเดียวในภาคใต้ที่ไม่มีพื้นที่ติดกับทะเลจึงเร่งดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จกลายเป็นสวนสาธารณะ และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจขนาดใหญ่ที่ประชาชนนิยมมาใช้ประโยชน์  ด้วยการออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจเป็นจำนวนมาก 
        สวนขวัญเมืองเป็นส่วนสาธารณะที่สองของเทศบาล มีการเปิดใช้งานตั้งแต่ปี ๒๕๒๙ เป็นต้นมาและได้ปล่อยพันธุ์ปลาจำนวนมากพร้อมทั้งพันธุ์ปลาบึก เป็นระยะเวลา ๒๘ ปี ปรากฏว่าสระน้ำมีสภาพตื้นเขิน มีวัชพืชเกิดขึ้น ดังนั้นเทศบาลนครยะลาจึงได้ดำเนินการขุดลอกปรับปรุงใหม่ ในปี ๒๕๕๓
       สวนขวัญเมือง (พรุบาโกย) ปัจจุบันมีการปรับปรุงสถานที่ในแต่ละสถานที่ในบริเวณสวนขวัญเมืองโดยรอบ  ไม่ว่าจะเป็นการจัดให้มีการประกอบด้วยสวนสนที่มีความสวยงาม  มีการค้าขายจัดระเบียบ เรียบร้อย สะดวก  รวมทั้งโขดหินวางไว้อย่างเหมาะสมเลียบไปตามชายหาด  โดยเฉพาะช่วงเวลาพระอาทิตย์ตกดินมีทิวทัศน์สวยงามมากทีเดียว  จัดให้มีการพายเรือเพื่อสุขภาพละจักรยานน้ำ ในบริเวณเดียวกันนี้ยังจัดให้มีสนามแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียนเป็นประจำทุกปีซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสนามแข่งขันนกเขาชวาเสียงที่ใหญ่ที่สุดในโลก สนามเด็กเล่น โรงยิมอเนกประสงค์ สวนสุขภาพและพันธุ์ไม้นานาพันธุ์  ทำให้สวนขวัญเมืองนับว่าเป็นสถานที่ที่มีประชาชนมาท่องเที่ยวมากที่สุดในเขตเทศบาลนครยะลา  และเป็นเขตที่เหมาะแก่การทำธุรกิจค้าขาย  ปลูกบ้าน  สังเกตได้ว่าตอนนี้มีการค้าขายมากขึ้น มีการปลูกบ้านเพิ่มขึ้นมากมายเป็นแถวและที่สำคัญทำให้สวนขวัญเมืองแห่งนี้น่าอยู่มากขึ้น เช้าๆมีผู้คนมากมายปั่นจักรยานรอบๆสวนขวัญเมือง(พรุบาโกย) สูดลมหายใจที่บริสุทธิ์ กับบรรยากาศ ทิวทัศน์อันสวยงาม จนปัจจุบันใครๆก็อยากมาเที่ยวสวนสาธารณะแห่งนี้      

                  สวนขวัญเมืองนับว่าเป็นสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดของเมืองยะลาและเป็นการสร้างความภาคภูมิใจ สามารถใช้ประโยชน์ได้กับประชาชนทุกเพศทุกวัยสร้างแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ เป็นสวนที่เน้นกระบวนการพัฒนาทักษะด้านการคิดและบูรณาการองค์ความรู้ด้านต่างๆของเด็ก เยาวชนและประชาชนทั่วไป และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดเพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ปลาบึกให้อยู่คู่สวนขวัญเมือง ไม่ต้องเดินทางไปดูถึงแม่น้ำโขง เพราะ ที่ยะลาบ้านเราก็มีปลาบึกตัวโตๆ ให้ดูให้ชมเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของเยาวชนและ ประชาชนชาวยะลาต่อไป รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เป็นปอดของเมืองยะลา
อ้างอิง